โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ตัวเลขผู้ป่วยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ระบบสืบพันธุ์ และความสัมพันธ์ส่วนตัวได้ บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักโรค STDs ตั้งแต่สาเหตุ อาการ การรักษา และวิธีป้องกัน เพื่อให้คุณสามารถดูแลสุขภาพทางเพศของตนเอง และคนรอบข้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) คืออะไร
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ STDs ที่ย่อมาจาก Sexually Transmitted Diseases คือ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต ซึ่งสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ ผ่านทางเลือด น้ำอสุจิ ของเหลวในร่างกาย หรือ การสัมผัสโดยตรงกับบริเวณที่มีเชื้อ แม้ว่าการมีเพศสัมพันธ์จะเป็นช่องทางหลักในการแพร่เชื้อ แต่โรค STDs ยังสามารถแพร่กระจายได้จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การถ่ายเลือด หรือจากแม่สู่ลูก ในระหว่างตั้งครรภ์หรือขณะคลอดบุตร ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการป้องกันโรคเหล่านี้เท่านั้น
สาเหตุของการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD)
- การมีคู่นอนหลายคน การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง เพิ่มความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อโรค เนื่องจากไม่สามารถทราบประวัติสุขภาพทางเพศของคู่นอนได้อย่างแน่ชัด
- การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การร่วมประเวณีโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือ การใช้ถุงยางอนามัยที่ชำรุด ฉีกขาด ทำให้เสี่ยงต่อการรับหรือถ่ายทอดเชื้อโรคได้โดยตรง
- การใช้สารเสพติด การใช้สารเสพติดขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะการใช้เข็มร่วมกัน เป็นช่องทางสำคัญในการแพร่กระจายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ประวัติการติดเชื้อ หากตนเองหรือคู่นอน เคยมีประวัติการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ และไม่ได้รับการรักษาหรือป้องกันอย่างถูกต้อง จะเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) มีโรคอะไรบ้าง
STD มีอะไรบ้าง? โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ช่องปาก หรือทวารหนัก โรคเหล่านี้มีหลากหลายชนิด ดังนี้
เริมที่อวัยวะเพศ (Genital Herpes)
เริมที่อวัยวะเพศ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก คือ HSV-1 และ HSV-2 โดย HSV-2 มักเป็นสาเหตุของเริมที่อวัยวะเพศ โดยอาการที่พบบ่อยคือ ตุ่มพองขนาดเล็ก ที่เจ็บและคันบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือบริเวณใกล้เคียง ตุ่มเหล่านี้ จะแตกออกและกลายเป็นแผลเปื่อย ก่อนจะค่อย ๆ หายไปเอง แต่ไวรัสจะยังคงอยู่ในร่างกาย และอาจมีการกลับมาเป็นซ้ำได้
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) สามารถเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มพอง แผล หรือ ของเหลวจากตุ่มพองของผู้ติดเชื้อ แม้ในช่วงที่ไม่มีอาการ ก็ยังสามารถแพร่เชื้อได้ หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเริม อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น ติดเชื้อขณะคลอด ทำให้ทารกมีปัญหาสุขภาพร้ายแรง
หนองใน (Gonorrhea)
หนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เนสเซเรีย โกโนเรียอี (Neisseria gonorrhoeae) สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรงกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก และปากของผู้ติดเชื้อ โดยอาการที่พบได้บ่อยจะมีดังนี้
- ผู้ชายมักพบอาการปวดแสบขณะปัสสาวะ มีหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ
- ผู้หญิงอาจมีอาการปวดแสบขณะปัสสาวะ ตกขาวผิดปกติ หรือไม่มีอาการใด ๆ ชัดเจนเลยก็ได้
หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น การอุดตันของท่อนำไข่ในผู้หญิง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากได้ นอกจากนี้ หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อหนองใน อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น ติดเชื้อในระหว่างคลอด ทำให้ทารกตาอักเสบ หรือ ติดเชื้อในระบบอื่นๆ ของร่างกาย
หนองในเทียม (Chlamydia)
หนองในเทียม เป็นอีกหนึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คลามัยเดีย ทราโคมาทิส (Chlamydia trachomatis) ซึ่งอาการของหนองในเทียม มักไม่แสดงออกอย่างชัดเจน หรืออาจมีอาการคล้ายกับหนองใน เช่น ปวดแสบขณะปัสสาวะ ตกขาวผิดปกติ หรือไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้
หากไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคอักเสบในอุ้งเชิงกรานในผู้หญิง ซึ่งอาจทำให้ท้องนอกมดลูก หรือภาวะมีบุตรยากได้ นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อคลามัยเดีย อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น ทำให้ทารกปอดอักเสบ หรือติดเชื้อที่ตา
โลน (Pubic lice)
โลน คือ ปรสิตตัวเล็ก ๆ ที่อาศัยเกาะกินเลือดบริเวณขนอวัยวะเพศ ขนรักแร้ ขนขา หรือแม้แต่ขนตา คิ้ว โลนจะเกาะติดกับเส้นขนโดยใช้ก้านที่แข็งแรง และวางไข่ที่โคนรากขน เมื่อไข่ฟักเป็นตัวก็จะเจาะผิวหนังเพื่อดูดเลือด ซึ่งโรคติดต่อเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน หรือเครื่องนอนอื่น ๆ ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่ คันบริเวณที่โลนเกาะ อาจพบรอยแดง รอยขีดเล็ก ๆ หรือเม็ดเล็ก ๆ สีขาวซึ่งเป็นไข่ของโลน
ซิฟิลิส (Syphilis)
ซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ตริโพนีมา พัลลิดัม (Treponema pallidum) ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) นี้เกิดขึ้นได้จากการสัมผัสโดยตรงกับแผลของผู้ติดเชื้อ ซึ่งมักพบที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือปาก โดยอาการในระยะแรก มักเป็นแผลเล็ก ๆ ไม่เจ็บ ไม่คัน ที่เรียกว่า แผลริมแข็ง หลังจากนั้นเชื้อจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย และทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น ผื่นตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
หากไม่ได้รับการรักษา โรคจะเข้าสู่ระยะเรื้อรัง และอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายใน เช่น หัวใจ สมอง ระบบประสาท และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ความอันตรายของซิฟิลิส คือ การเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากแผลที่เกิดจากซิฟิลิสเป็นทางเข้าของเชื้อเอชไอวีได้ง่าย
เชื้อ HIV
HIV เป็นไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ร่างกายจะสูญเสียความสามารถในการต่อสู้กับโรคติดเชื้ออื่น ๆ และอาจนำไปสู่ภาวะเอดส์ (AIDS) ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) นี้เกิดขึ้นได้จากการสัมผัสเลือด น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นช่องคลอด หรือน้ำนมของผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน รวมถึงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์ คลอด หรือให้นมบุตร
ซึ่งอาการในระยะแรก อาจไม่มีอาการใด ๆ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่เมื่อโรคดำเนินไป ระบบภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ และผู้ป่วยอาจมีอาการติดเชื้อซ้ำๆ เช่น ปอดอักเสบ หรือมะเร็งบางชนิด
เชื้อ HPV
HPV เป็นกลุ่มไวรัสที่มีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ก่อให้เกิด หูดหงอนไก่ ซึ่งเป็นตุ่มเนื้อนิ่มที่มักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือปาก บางสายพันธุ์อาจทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก หรือมะเร็งคอบางชนิด ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) นี้เกิดขึ้นได้จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งอาการในระยะแรกอาจไม่มีอาการใด ๆ หรือมีตุ่มเล็ก ๆ ที่มองไม่เห็นชัดเจน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ผิดปกติ อาจพัฒนาไปเป็นโรคมะเร็งได้
พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis)
พยาธิในช่องคลอด หรือทริโคโมนาส (Trichomoniasis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อปรสิตชนิดหนึ่งชื่อ ทริโคโมนาส วาจินาลิส (Trichomonas vaginalis) เชื้อนี้มักอาศัยอยู่ในช่องคลอดและท่อปัสสาวะ ซึ่งอาการของโรคนี้ในผู้หญิงมักจะไม่ชัดเจน หรืออาจมีอาการ เช่น ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น คัน หรือแสบในช่องคลอด ส่วนในผู้ชาย อาจมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบ หรือมีสารคัดหลั่งผิดปกติจากท่อปัสสาวะ
ไวรัสตับอักเสบบี
ไวรัสตับอักเสบบี เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Virus) ซึ่งสามารถทำลายเซลล์ตับได้ ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) นี้สามารถเกิดขึ้นได้หลายทาง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสัมผัสเลือดของผู้ติดเชื้อ หรือจากแม่สู่บุตรขณะตั้งครรภ์ คลอด หรือให้นมบุตร
โดยอาการของโรคไวรัสตับอักเสบบีมักจะไม่แสดงอาการในระยะแรก หรืออาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และตัวเหลือง ตาเหลือง หากไม่ได้รับการรักษา โรคอาจพัฒนาไปสู่โรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับได้
การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs)
การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs Test) คือสิ่งสำคัญเพื่อดูแลสุขภาพและความปลอดภัยทางเพศ โดยมีวิธีการตรวจหลายแบบ เช่น
- การตรวจเลือด ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมที่สุด เพราะตรวจหาเชื้อโรคได้หลากหลายชนิด เช่น เอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบ
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาเชื้อหนองในและหนองในเทียม
- การตรวจภายใน (Pap smear) เพื่อตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่อาจนำไปสู่มะเร็งปากมดลูก
- การตรวจสารคัดหลั่ง จากอวัยวะเพศเพื่อตรวจหาเชื้อโรคชนิดอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเป็นผู้เลือกวิธีตรวจที่เหมาะสมที่สุด ตามอาการและประวัติทางเพศของแต่ละบุคคล ซึ่งการตรวจสุขภาพทางเพศเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สามารถตรวจพบและรักษาโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรค และช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีขึ้น
วิธีการป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรให้ความสนใจ เพื่อรักษาสุขภาพทางเพศและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- ใช้ถุงยางอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกัน การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์สามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้อย่างมาก
- การตรวจสุขภาพเป็นประจำ ควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการตรวจสุขภาพช่วยให้คุณสามารถรักษาและป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ทันเวลา
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เมื่อมีอาการ หากคุณหรือคู่รักมีอาการเช่น แผลหรือผื่น ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบจากแพทย์
- การฉีดวัคซีน วัคซีนสำหรับโรคติดต่อบางชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบ B และ HPV สามารถช่วยป้องกันโรคได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวกับผู้อื่น เช่น การใช้ผ้าเช็ดตัว หรือเสื้อผ้าที่ใช้ร่วมกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
สรุป
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญซึ่งสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ หากละเลยการดูแล การป้องกันและตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยครอบคลุมการใช้ถุงยางอนามัย การตรวจสุขภาพประจำปี และการฉีดวัคซีนป้องกัน
ที่ Z by Zeniq คือคลินิกสุขภาพทางเพศ รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างครอบคลุมและเป็นความลับ เรามีแพทย์เวชศาสตร์ทางเพศพร้อมให้บริการ ทั้งการตรวจวินิจฉัย และให้คำปรึกษาอย่างละเอียด ในบรรยากาศที่เป็นส่วนตัว ปลอดภัย และไม่ตัดสิน คุณสามารถนัดหมายได้ง่าย ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือโทรมาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้เลย