คุณเคยได้ยินชื่อ “ซิฟิลิส” ไหม? โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่อาจซ่อนตัวอยู่ในร่างกายของคุณ โดยไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากปล่อยไว้ อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และแม้แต่ความเสียหายของระบบประสาท วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับซิฟิลิสให้มากขึ้น เพื่อที่คุณจะได้ปกป้องตัวเองและคนที่คุณรัก
ซิฟิลิส (Syphilis) คืออะไร
ซิฟิลิส คือ การติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema Pallidum ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับแผลหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ อาการเริ่มแรก มักเป็นแผลริมแข็งที่ไม่มีอาการเจ็บ ซึ่งอาจปรากฏที่อวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง โรคจะลุกลามไปยังอวัยวะภายใน ทำลายระบบประสาท หัวใจ และหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้
โรคติดต่อซิฟิลิส เกิดจากอะไร
ซิฟิลิส ติดทางไหนได้บ้าง? ซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema Pallidum) ซึ่งเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ติดต่อผ่านทางบาดแผลและการมีเพศสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ป่วยเท่านั้น แตกต่างจากโรคหนองในและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ที่มักติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่ง
- การมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศทางช่องคลอด ช่องทวารหนัก หรือทางปาก โดยเฉพาะหากไม่มีการป้องกันด้วยถุงยางอนามัย
- การสัมผัสโดยตรง การสัมผัสกับแผลหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำลาย เลือด
- จากแม่สู่ลูก เชื้อสามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ขณะตั้งครรภ์ หรือระหว่างการคลอดบุตร
สามารถเป็นตั้งแต่กำเนิดได้หรือไม่
ทารกสามารถติดเชื้อมาจากแม่ตั้งแต่ในครรภ์ได้ เพราะเชื้อซิฟิลิสของแม่ ผ่านเข้าสู่ร่างกายของลูกน้อยขณะตั้งครรภ์ หรือขณะคลอด ทำให้ทารกเกิดมาพร้อมกับโรคนี้ หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูกน้อยอย่างรุนแรง เช่น เกิดภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ สมอง และระบบอื่น ๆ ของร่างกาย ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวน้อย หรือเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ เด็กที่ติดเชื้อซิฟิลิสแต่กำเนิด อาจมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น ผื่นแดงที่ฝ่ามือฝ่าเท้า หูหนวก ฟันผุ หรือมีลักษณะของจมูกผิดปกติที่เรียกว่า “จมูกซิฟิลิส”
เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเกิดมาพร้อมกับโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด ในผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อซิฟิลิส และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เป็นประจำตามที่แพทย์แนะนำ ซึ่งการตรวจหาเชื้อซิฟิลิสนั้นมีความสำคัญมาก เพราะหากพบว่าติดเชื้อ แพทย์จะสามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในทารก และทำให้ลูกน้อยมีสุขภาพที่ดี
อาการในผู้หญิงและผู้ชาย ต่างกันอย่างไร
อาการซิฟิลิสทั่วไปที่พบได้ ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ได้แก่ การเกิดแผลริมแข็ง (Chancre) ซึ่งเป็นแผลเรื้อรังไม่เจ็บ โดยมักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีผื่นขึ้นตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ น้ำหนักลด ปวดกล้ามเนื้อ ผมร่วง และรู้สึกเหนื่อยล้า นอกจากนี้ อาการของโรคซิฟิลิสในเพศหญิงและเพศชายก็มีความแตกต่างกัน ดังนี้
- อาการเฉพาะในเพศหญิง นอกจากแผลริมแข็งแล้ว ผู้ป่วยหญิงอาจมีแผลเกิดขึ้นที่ปากมดลูก หรือผนังช่องคลอดได้ ซึ่งอาจสังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากตำแหน่งที่เกิดแผล
- อาการเฉพาะในเพศชาย แผลริมแข็งมักเกิดขึ้นที่ส่วนหัวขององคชาต ลำตัวขององคชาต ใต้หนังหุ้มปลายองคชาต บริเวณรอบถุงอัณฑะ ทวารหนัก ขาหนีบ หรือภายในท่อปัสสาวะ
ซิฟิลิสต่างจากแผลริมอ่อนอย่างไร
แผลริมอ่อน หรือ ซิฟิลิสเทียม มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคซิฟิลิส เนื่องจากมีอาการเริ่มแรกที่คล้ายคลึงกัน คือ การเกิดแผลที่อวัยวะเพศ อย่างไรก็ตาม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่ละชนิด มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน หากต้องการทราบผลการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแผลริมอ่อนจะมีอาการที่สังเกตได้ดังนี้
- แผลเจ็บปวด อาการเด่นชัดที่สุดของแผลริมอ่อน คือ ความเจ็บปวดบริเวณแผล ซึ่งแตกต่างจากโรคอื่นๆ เช่น ซิฟิลิส ที่แผลมักไม่เจ็บ
- หลายแผล ผู้ป่วยมักมีแผลหลายแผลพร้อมกัน โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ
- ขอบแผลไม่เรียบ ขอบของแผลมักดูไม่เรียบเสมอกัน มีลักษณะขรุขระ หรือเป็นขอบฉีก
- พื้นแผลสกปรก บริเวณก้นแผลมักมีลักษณะเหมือนเนื้อตาย หรือมีหนอง ซึ่งทำให้ดูสกปรก
- ระยะฟักตัวสั้น หลังจากติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน อาการจะเริ่มแสดงออกมา ทำให้สังเกตเห็นได้เร็ว
ซิฟิลิส มีอาการกี่ระยะ
โรคซิฟิลิสแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะจะมีอาการที่แตกต่างกันไป ตามลักษณะและความรุนแรงของโรค โดยอาการที่ปรากฏขึ้นในแต่ละบุคคล อาจไม่เหมือนกันและอาจไม่เป็นไปตามลำดับของระยะเสมอไป อาการของแต่ละระยะอาจมีความคาบเกี่ยวกันได้ นอกจากนี้ เชื้อซิฟิลิสยังสามารถแฝงตัวอยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการใด ๆ เป็นระยะเวลานานหลายปีก่อนที่จะแสดงอาการออกมา
ระยะที่ 1 ระยะปฐมภูมิ (Primary syphilis)
ซิฟิลิสระยะแรกหรือระยะปฐมภูมิ (Primary syphilis) มักเริ่มต้นด้วยการเกิดแผลริมแข็ง (Chancre) ซึ่งเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีแดงขอบนูนแข็งที่บริเวณอวัยวะเพศ ปาก ทวารหนัก หรือบริเวณอื่นๆ ที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย หลังจากการติดเชื้อประมาณ 3 สัปดาห์ แผลริมแข็งนี้มักจะไม่เจ็บเมื่อกด และสามารถหายได้เองภายใน 3-8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแผลจะหายไป แต่เชื้อซิฟิลิสยังคงอยู่ในร่างกายและจะเข้าสู่ระยะที่สองต่อไป หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
ระยะที่ 2 ระยะทุติยภูมิ (Secondary syphilis)
ซิฟิลิสระยะที่สอง หรือระยะทุติยภูมิ (Secondary syphilis) มักปรากฏอาการประมาณ 3-12 สัปดาห์หลังจากการติดเชื้อ ในระยะนี้ เชื้อซิฟิลิสจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการหลากหลาย เช่น ผื่นแดงขึ้นตามตัว รวมถึงฝ่ามือและฝ่าเท้า อาจมีแผลในปาก ต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้ เหนื่อยล้า และผมร่วง อาการเหล่านี้อาจหายไปได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่เชื้อซิฟิลิสยังคงอยู่ในร่างกาย และอาจเข้าสู่ระยะแฝงต่อไป หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
ระยะที่ 3 ระยะแฝง (Latent syphilis)
ซิฟิลิสระยะที่สาม หรือระยะแฝง (Latent syphilis) คือระยะที่ผู้ป่วยติดเชื้อซิฟิลิสแต่ไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาอย่างชัดเจน เป็นเหมือนการที่เชื้อซ่อนตัวอยู่ในร่างกายโดยไม่ก่อให้เกิดอาการป่วยใด ๆ แม้ว่าจะไม่มีอาการ แต่เชื้อก็ยังคงแพร่กระจายและทำลายอวัยวะภายในได้อย่างเงียบ ๆ ระยะนี้สามารถกินเวลานานหลายปี บางรายอาจถึง 20 ปี ก่อนที่จะแสดงอาการรุนแรงในระยะสุดท้าย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาท หัวใจ และอวัยวะอื่น ๆ ได้ การติดเชื้อซิฟิลิสในระยะแฝงยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือจากแม่สู่ลูกระหว่างตั้งครรภ์
ระยะที่ 4 ระยะสุดท้าย (Tertiary syphilis)
ซิฟิลิสระยะสุดท้าย (Tertiary syphilis) เป็นระยะที่อันตรายที่สุดของโรคซิฟิลิส ซึ่งผู้ป่วยประมาณ 15-30% ที่ไม่ได้รับการรักษาในระยะแรก ๆ จะเข้าสู่ระยะนี้ โดยเชื้อซิฟิลิสจะทำลายอวัยวะภายในอย่างรุนแรง เช่น สมอง หัวใจ และหลอดเลือด ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เช่น ภาวะสมองเสื่อม อัมพาต ตาบอด และอาจเสียชีวิตได้ อาการที่พบบ่อยในระยะนี้ คือ การเกิดตุ่ม หรือเนื้องอกขนาดใหญ่ตามผิวหนัง หรืออวัยวะภายใน ซึ่งมักไม่เจ็บเมื่อกด และอาจมีแผลหรือฝีเกิดขึ้นได้
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคซิฟิลิส
หากไม่ได้รับการรักษา ซิฟิลิสจะลุกลามเข้าสู่ระยะสุดท้าย และก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่อร่างกาย เช่น
- ระบบประสาทและสมอง หากซิฟิลิสขึ้นสมอง อาจจะมีอาการและโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หูหนวก ตาบอด โรคสมองเสื่อม และปัญหาทางเพศ
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดแดงอาจโป่งพอง ลิ้นหัวใจอาจรั่ว หรือหลอดเลือดแดงใหญ่เกิดการอักเสบ
- ผิวหนังและอวัยวะภายใน เกิดตุ่มหรือก้อนเนื้อขนาดใหญ่ที่เรียกว่า กัมม่า ซึ่งอาจพบได้ที่ผิวหนัง กระดูก หรืออวัยวะภายใน
- การติดเชื้ออื่น ๆ ผู้ป่วยซิฟิลิสมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
- ผลกระทบต่อทารกในครรภ์ หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ ซิฟิลิสอาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ คลอดก่อนกำหนด หรือเกิดมาพร้อมกับโรคซิฟิลิส
ซิฟิลิส รักษาให้หายขาดได้หรือไม่
ซิฟิลิส รักษานานไหม แล้วสามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม? ซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ หากได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รักษายาก
วิธีการวินิจฉัยซิฟิลิส
เพื่อยืนยันการติดเชื้อซิฟิลิส แพทย์จะดำเนินการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อประเมินอาการเบื้องต้น หากพบความเสี่ยง แพทย์จะทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ดังนี้
- การส่องกล้อง Dark-field เป็นการตรวจหาเชื้อซิฟิลิสโดยตรงจากตัวอย่างเซลล์ที่เก็บจากแผล หรือผื่นผิวหนังในระยะแรกของโรค โดยนำตัวอย่างไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษ เพื่อตรวจหาเชื้อ Treponema pallidum ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค
- การตรวจเลือด เป็นการตรวจหาแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อซิฟิลิส แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- การตรวจหาแอนติบอดีที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น VDRL และ RPR ใช้เพื่อคัดกรองเบื้องต้น แต่ผลบวกอาจเกิดจากโรคอื่นได้
- การตรวจหาแอนติบอดีที่เฉพาะเจาะจง เช่น FTA-ABS, TPHA, TP-PA และ ICT ใช้เพื่อยืนยันการติดเชื้อซิฟิลิส
- การตรวจน้ำไขสันหลัง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาท แพทย์จะทำการเจาะน้ำไขสันหลัง เพื่อตรวจหาเชื้อและความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดจากซิฟิลิสในระยะลุกลาม
รอผลตรวจซิฟิลิสกี่วัน
ซิฟิลิส กี่วันตรวจเจอ? การตรวจซิฟิลิส เป็นการตรวจเพื่อหาเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคซิฟิลิส โดยมีวิธีการตรวจหลายแบบ แต่ละแบบมีความแตกต่างกันในเรื่องของความเร็วในการได้ผล และความแม่นยำ เช่น การตรวจ RPR จะให้ผลเร็วที่สุดภายใน 1 ชั่วโมง แต่ความแม่นยำอาจไม่สูงเท่าการตรวจ TPHA หรือ FTA-ABS ซึ่งให้ผลช้ากว่า รอประมาณ 3 วัน แต่มีความแม่นยำสูงกว่า
การเลือกวิธีการตรวจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะของโรค ประวัติการเจ็บป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ หากสงสัยว่าตนเองติดเชื้อซิฟิลิส ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องทันที
วิธีการรักษาซิฟิลิส
การรักษาโรคซิฟิลิส มักใช้วิธีการให้ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค โดยวิธีการให้ยาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค ดังนี้
- ผู้ป่วยในระยะเริ่มแรก แพทย์มักฉีดยาเพนิซิลลินเพียงครั้งเดียวเข้ากล้ามเนื้อ แม้ว่าจะยังไม่มีอาการก็ตาม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคและปกป้องคู่สัมพันธ์
- ผู้ป่วยที่มีโรคลุกลามไปสู่ระยะที่ 2 หรือ 3 แพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยาเป็นระยะเวลานานขึ้น เช่น การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหลายครั้ง หรือการให้ยาทางหลอดเลือดดำในกรณีที่มีอาการรุนแรง
หลังจากการรักษา แพทย์จะนัดติดตามผลด้วยการตรวจเลือดเป็นระยะ เพื่อประเมินผลการรักษาและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือสวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น และควรแจ้งให้คู่สัมพันธ์เข้ารับการตรวจและรักษาด้วย
วิธีการป้องกันโรคติดต่อ
ซิฟิลิส เป็นโรคที่มีการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อันตรายและสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการตรวจพบและรักษาอย่างทันท่วงที แต่การป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงโรคนี้
- มีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัย สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักที่ไม่แน่นอนหรือคู่รักใหม่ รวมถึงตรวจสอบให้แน่ใจว่าถุงยางอนามัยอยู่ในสภาพสมบูรณ์ก่อนใช้งาน
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง งดการมีเพศสัมพันธ์แบบหลายคู่ และงดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น รวมถึงงดการสัมผัสบาดแผลของผู้อื่นโดยตรง
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ดูแลสุขอนามัย รักษาความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ และอาบน้ำชำระร่างกายหลังมีเพศสัมพันธ์
- ปรึกษาแพทย์ หากมีอาการผิดปกติ เช่น แผลที่อวัยวะเพศ มีตุ่มทั่วตัว ต่อมน้ำเหลืองโต ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง
สรุป
ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา พาลลิดัม โดยสามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสแผลของผู้ติดเชื้อ หากไม่ได้รับการรักษา โรคจะลุกลามผ่าน 4 ระยะ และอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงต่ออวัยวะต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ใช้ถุงยางอนามัย หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง และตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
ที่ Z by Zeniq คือคลินิกสุขภาพทางเพศ รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างครอบคลุมและเป็นความลับ เรามีแพทย์เวชศาสตร์ทางเพศพร้อมให้บริการ ทั้งการตรวจวินิจฉัย และให้คำปรึกษาอย่างละเอียด ในบรรยากาศที่เป็นส่วนตัว ปลอดภัย และไม่ตัดสิน คุณสามารถนัดหมายได้ง่าย ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือโทรมาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้เลย