วัคซีน HPV
มะเร็งปากมดลูกเป็นภัยคุกคามสุขภาพที่ทุกคนต้องใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายที่มีความสัมพันธ์ทางเพศ เพราะไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งชนิดนี้ สามารถติดต่อได้ทั้งสองเพศ แต่ปัจจุบันเรามีอาวุธสำคัญในการป้องกัน นั่นคือ “วัคซีน HPV” ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก ในผู้หญิง แต่ยังลดความเสี่ยงของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ที่เกิดจาก HPV ในทั้งผู้หญิงและผู้ชายอีกด้วย มาทำความเข้าใจของวัคซีนและความคุ้มค่าของวัคซีน HPV กันได้ในบทความนี้
เชื้อไวรัส HPV คืออะไร
เชื้อ HPV (Human papilloma virus) เป็นไวรัสที่มีหลากหลายสายพันธุ์ซึ่งสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสโดยตรงและการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก โดยพบว่าเป็นต้นเหตุถึง 70% ของผู้ป่วย ในขณะที่สายพันธุ์ 6 และ 11 มักก่อให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศซึ่งพบได้ถึง 90% นอกจากมะเร็งปากมดลูกแล้ว HPV ยังสัมพันธ์กับมะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งปากช่องคลอด และมะเร็งทวารหนักอีกด้วย
ผู้ติดเชื้อ HPV อาจแสดงอาการหลายรูปแบบ แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์และตำแหน่งที่ติดเชื้อ โดยอาการที่พบบ่อยที่สุดคือการมีหูดเกิดขึ้น ซึ่งอาจมีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มแบน หรือตุ่มสีชมพู โดยมักพบในบริเวณช่องคลอด ปากมดลูก อัณฑะ ทวารหนัก ขาหนีบ หรือขาอ่อน นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการคันหรือแสบร้อนบริเวณที่ติดเชื้อ มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวที่มีกลิ่นเหม็นและมีปริมาณมากผิดปกติ ประจำเดือนผิดปกติ และในบางกรณีที่พบได้น้อย อาจมีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะเนื่องจากก้อนมีขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือ การที่ผู้ติดเชื้อ HPV จำนวนมากไม่มีอาการดังกล่าว ทำให้การตรวจพบโรคล่าช้าและเป็นอันตรายได้
ทำไมต้องฉีดวัคซีน HPV ป้องกัน
การฉีดวัคซีน HPV คือการป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งชนิดอื่น ๆ รวมถึงหูดบริเวณอวัยวะเพศด้วย แม้ว่าร่างกายสามารถกำจัดเชื้อได้เองถึงร้อยละ 90 แต่ในบางกรณีการติดเชื้อที่เรื้อรังอาจนำไปสู่ความผิดปกติของเยื่อบุปากมดลูก
วัคซีน HPV มีกี่ชนิด ป้องกันได้กี่สายพันธ์
ปัจจุบันในประเทศไทยมีวัคซีน HPV อยู่ 3 ชนิด ได้แก่
- วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ (Bivalent) ที่ครอบคลุมสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก
- วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ (Quadrivalent) ที่ครอบคลุมสายพันธุ์ 16, 18 และสายพันธุ์ 6, 11 ที่ก่อให้เกิดหูดหงอนไก่
- วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ (Nonavalent) สามารถครอบคลุมได้ทั้งสายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58 ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก รวมถึงสายพันธุ์ 6 และ 11 ที่ก่อให้เกิดหูดหงอนไก่ โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสายพันธุ์หลักที่พบได้บ่อยที่สุด คิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของเชื้อ HPV ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
จะเห็นได้ว่าวัคซีนชนิด 2 และ 4 สายพันธุ์จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ประมาณร้อยละ 70 ในขณะที่วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์จะสามารถป้องกันได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 รวมเป็นประมาณร้อยละ 90
ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีน HPV ผู้ชายฉีดได้หรือไม่
- ทั้งชายและหญิงที่อายุ 9-26 ปี ต้องฉีด 3 เข็ม (ที่ 0, 1-2 และ 6 เดือน)
- ทั้งชายและหญิงที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องฉีดเพียง 2 เข็ม
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV ต้องฉีดครบ 3 เข็ม
- ผู้หญิงที่มีผลตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกติ และผล HPV testing ผิดปกติ หรือมีประวัติรอยโรคก่อนมะเร็งที่ปากมดลูก รวมถึงมีประวัติเป็นหูดหงอนไก่
- (ผู้หญิงยังควรรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามปกติ)
ผู้หญิงและผู้ชาย อายุ 26-45 ปี หรือเคยมีเพศสัมพันธ์ แพทย์จะพิจารณาฉีดเป็นรายกรณี
ผู้ที่ไม่ควรรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV
ผู้ที่มีข้อห้ามในการรับวัคซีน HPV ได้แก่
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนอย่างรุนแรง
- ผู้ที่แพ้ยีสต์ (สำหรับวัคซีน Gardasil และ Gardasil9)
- สตรีตั้งครรภ์ควรเลื่อนการฉีดไปหลังคลอด อย่างไรก็ตาม หากฉีดไประหว่างตั้งครรภ์สามารถฉีดเข็มที่เหลือหลังคลอดได้
- สำหรับสตรีให้นมบุตรสามารถรับวัคซีนได้
วิธีการวัคซีน HPV
การฉีดวัคซีน HPV จำเป็นต้องฉีดให้ครบตามกำหนด เพื่อให้ได้ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด โดยทั่วไปจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม
- เข็มแรก: เลือกวันนัดหมายได้
- เข็มที่สอง: ฉีดหลังจากเข็มแรก 1-2 เดือน
- เข็มที่สาม: ฉีดหลังจากเข็มแรก 6 เดือน
- สำหรับเด็กผู้หญิง หากเริ่มฉีดวัคซีนก่อนอายุ 15 ปี อาจฉีดเพียง 2 เข็ม โดยห่างกัน 6-12 เดือน
ข้อแนะนำหลังฉีดวัคซีน HPV
หลังฉีดวัคซีนทุกครั้ง ควรสังเกตอาการตัวเองอย่างน้อย 15 นาที เพื่อความปลอดภัย หากมีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที สำหรับการคุมกำเนิด ควรรออย่างน้อย 1 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนครบโดส เพื่อให้วัคซีนออกฤทธิ์เต็มที่
ข้อดีของวัคซีน HPV
- ป้องกันไวรัส HPV ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง: วัคซีน HPV ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูก ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้อย่างมาก
- ผลข้างเคียงน้อยมาก: มักหายไปเองภายในไม่กี่วัน
- ฉีดร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้: การฉีดวัคซีน HPV ควบคู่ไปกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ จะช่วยให้การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- ป้องกันได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง: วัคซีน HPV ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อ HPV ในเพศชายได้ด้วย เช่น หูดหงอนไก่ และมะเร็งทวารหนัก
ข้อจำกัดของวัคซีน HPV
วัคซีน HPV มีข้อจำกัดในการใช้กับบุคคลที่มีภาวะภูมิไวเกิน หรือแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบใดส่วนหนึ่งของวัคซีน เช่น ยีสต์ หรือสารกันบูดบางชนิด ดังนั้น ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับวัคซีน
ผลข้างเคียงของวัคซีน HPV
- อาการทั่วไป: อาการที่พบได้บ่อยที่สุดคือ อาการปวด บวม แดง ที่บริเวณที่ฉีดยา ซึ่งอาการเหล่านี้ จะหายไปเองภายใน 2-3 วัน
- อาการอื่นๆ : เช่น ไข้ต่ำ ๆ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ หรือเวียนศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้ก็จะหายไปเองได้เช่นกัน
การป้องกันการติดเชื้อ HPV
การป้องกันการติดเชื้อ HPV สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง อย่างการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- มีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย อย่างการมีคู่นอนคนเดียว และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- รับวัคซีนป้องกัน HPV เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 9-26 ปี
สรุป
วัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งชนิดอื่น ๆ ซึ่งวัคซีนนี้แนะนำให้ฉีดในเด็กและวัยรุ่นทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก แม้ว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนร่วมกับการมีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอในผู้หญิง