PrEP (เพร็พ)
ปัจจุบัน PrEP กลายเป็นทางเลือกสำคัญในการป้องกัน HIV โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง และถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำในการยุติการแพร่ระบาดของ HIV ทั่วโลก ซึ่งบทความนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับยา PrEP อย่างละเอียดว่าคืออะไร เหมาะกับใคร และมีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง พร้อมวิธีการกินยา PrEP ให้มีประสิทธิภาพที่สูงสุด เพื่อให้คุณตัดสินใจได้อย่างรอบคอบก่อนเริ่มใช้ยา
ยา PrEP คือยาอะไร
ยา PrEP คือยาอะไร? ยา PrEP หรือ Pre-Exposure Prophylaxis คือเป็นยาที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อ HIV ปัจจุบันมียาสูตรที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ซึ่ง ยา PrEP ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย จะมียี่ห้อ ดังนี้
- Truvada, TENO-EM และ TENOF-EM ซึ่ง 3 ยี่ห้อนี้มีส่วนผสมระหว่าง Tenofovir disoproxil fumarate และ Emtricitabine โดยยาสามัญของไทย TEMO-EM มีฤทธิ์ยาเดียวกับ TRUVADA
- Descovy ที่เป็นการผสมระหว่าง Tenofovir alafenamide และ Emtricitabine
ยา PrEP VS. ยา PEP ต่างกันอย่างไร
PEP (Post Exposure Prophylaxis) และ PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) เป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้อ HIV ที่แตกต่างกัน โดย PEP เป็นการป้องกันฉุกเฉินหลังจากมีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับยาภายใน 72 ชั่วโมงและต้องกินต่อเนื่องเป็นเวลา 28 วัน ยิ่งกินเร็วเท่าไร ยิ่งมีประสิทธิภาพเท่านั้น
ในขณะที่ PrEP ไม่ได้กินแบบฉุกเฉิน แต่เป็นการป้องกันโดยการกินยาก่อนการสัมผัสเชื้อ ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การกินแบบรายวัน (Daily) และแบบตามความต้องการ หรือเพร็พแบบเฉพาะช่วง (On-demand)
การกินยา PrEP เหมาะกับใครบ้าง
ยา PrEP เป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ HIV โดยมีกลุ่มคนต่าง ๆ ดังนี้
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน
- ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ผู้ที่มีคู่นอนที่ติดเชื้อ HIV
- ผู้ที่ประกอบอาชีพทางเพศ
- ผู้ที่สารเสพติดและใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- ผู้ที่เคยได้รับยา PEP (ยาป้องกันการติดเชื้อ HIV หลังสัมผัส) อย่างต่อเนื่อง และยังคงมีพฤติกรรมเสี่ยง
การกินยา PrEP ไม่เหมาะกับใครบ้าง
ผู้ที่ไม่ควรกินยา PrEP และควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีลดความเสี่ยงในรูปแบบอื่น มีดังนี้
- ผู้ติดเชื้อ HIV อยู่แล้ว รวมถึงผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว และผู้ที่รับเคมีบำบัด เป็นต้น
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง และโรคไตเรื้อรัง เป็นต้น
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา แพ้ยาต้านไวรัสกลุ่ม NRTIs เช่น เทนโฟเวียร์ เอมตริไซตาบีน หรือยาต้านไวรัสชนิด ARV เป็นต้น
- การกินยาจะป้องกันจากการติดเชื้อ HIV ได้มากแค่ไหน
- การกินยา PrEP ถือเป็นการป้องกันการติดเชื้อ HIV ที่มีประสิทธิภาพสูงถึงเกือบ 100% เมื่อกินอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการป้องกันนั้นขึ้นอยู่กับวินัยในการกินยา ซึ่งจำเป็นต้องกินยาตามแพทย์แนะนำ เพื่อให้ร่างกายได้รับยาในปริมาณที่เพียงพอและต่อเนื่อง นอกจากนี้ การใช้ถุงยางอนามัยควบคู่ไปด้วยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและลดความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย
ข้อดี-ข้อเสียของการกินยา PrEP
ข้อดี: เป็นวิธีป้องกัน HIV ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ มีหลักฐานและการพิสูจน์มาแล้วมากมาย สามารถใช้ร่วมกับวิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ ได้โดยไม่มีอันตราย ซึ่งการใช้ยา PrEP ช่วยให้ผู้ใช้มีความมั่นใจมากขึ้นในเรื่องความปลอดภัยทางเพศและลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อ HIV
ข้อเสีย: การกินยา PrEP อย่างถูกต้อง อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ เช่น อาการคลื่นไส้ ปวดหัว และปวดท้อง ซึ่งมักหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยผลข้างเคียงที่พบได้น้อย ได้แก่ ไตวายเฉียบพลัน กระดูกบาง
ยา PrEP รับได้ที่ไหน ราคาเท่าไร
ยา PrEP ซื้อที่ไหน? รับได้ที่ไหนบ้าง? ซึ่งยา PrEP สามารถรับได้ที่สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ โดยราคายา PrEP จะแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานพยาบาล หากต้องการบริการแบบครบวงจร ทั้งการประเมินความเสี่ยง การให้คำปรึกษา และการจ่ายยา สามารถติดต่อได้ที่ Z by Zeniq ซึ่งพร้อมให้บริการอย่างครอบคลุม
ก่อนกินยา PeEP ต้องทำอย่างไรบ้าง
การเริ่มกินยา PrEP จำเป็นต้องผ่านการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดก่อน โดยต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ HIV รวมถึงการตรวจเลือดเพื่อประเมินการทำงานของอวัยวะสำคัญ โดยเฉพาะตับและไต เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายพร้อมสำหรับการใช้ยา
เมื่อเริ่มกินยาแล้ว แพทย์จะมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง โดยนัดตรวจอาการและเจาะเลือดทุก 3 เดือน ซึ่งการติดตามผลนี้จะดำเนินไปจนกว่าผู้ใช้จะหยุดการกินยา ก็เพื่อให้มั่นใจว่าการกินยา PrEP มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตลอดระยะเวลาการรักษา
กินยา PrEP อย่างไรให้ถูกวิธี
ยา PrEP เป็นยาที่มีส่วนประกอบของตัวยา 2 ชนิดผสมอยู่ในเม็ดเดียวกัน (Fixed Dose Combination) โดยสามารถเลือกใช้ได้ 2 วิธี ดังนี้
วิธีการกินแบบ Daily PrEP
การกินยา PrEP แบบ Daily PrEP จำเป็นต้องเริ่มกินล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ก่อนการสัมผัสความเสี่ยง โดยต้องกินยาวันละ 1 เม็ดในเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อให้ยามีระดับเพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งทั่วไปแพทย์จะจ่ายยาให้ครั้งละ 3 เดือน – remove this แพทย์ผู้ดูแลจะมีการนัดติดตามอาการทุก 3 เดือนเพื่อติดตามและคัดกรองการติดเชื้อ HIV ระหว่างการกินยา ก่อนที่จะพิจารณาจ่ายยาต่อในรอบถัดไป
ทั้งนี้ ผู้ใช้ควรกินยาอย่างต่อเนื่อง หากยังมีความเสี่ยง ถึงแม้จะหมดความเสี่ยงแล้ว ก็ไม่ควรหยุดยาทันที แต่ควรกินต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หรือตามแพทย์แนะนำและต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองเชื้อ HIV อีกครั้ง หากผลตรวจไม่พบการติดเชื้อจึงจะสามารถหยุดการกินยาได้อย่างปลอดภัย
วิธีการกินแบบ On Demand PrEP
การกินยา PrEP แบบ On Demand PrEP มีรูปแบบการกินที่เฉพาะเจาะจง โดยเริ่มจากการกินยา 2 เม็ดพร้อมกัน ในช่วงเวลา 2-24 ชั่วโมงก่อนการมีเพศสัมพันธ์ หรือก่อนการสัมผัสความเสี่ยง หลังจากนั้น ผู้ใช้จะต้องกินยาต่อเนื่องในขนาด 1 เม็ดต่อวัน และจะต้องกินต่อไปอีก 2 วันหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย (เป็นแบบ 24 ชั่วโมงต่อโดส) หรือหลังจากหมดความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับการป้องกันอย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ
หากลืมกินยา PrEP ต้องทำอย่างไร
หากลืมกินยา ควรต้องเข้ามาพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำวิธีการกินยาให้เหมาะสมตามแต่ละบุคคล
กินยาแล้วยังต้องสวมถุงยางหรือไม่
แม้ว่ายา PrEP จะสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้เกือบ 100% แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ ดังนั้น จึงแนะนำให้กินยา PrEP ควบคู่กับถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อการป้องกันที่ครอบคลุมและปลอดภัยที่สุด
กินยา PrEP จะอันตรายหรือไม่ ผลข้างเคียงอย่างไร
ยา PrEP เป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง แม้การกินยา PrEP อาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย โดยเฉพาะใน 2-3 วันแรก เพราะร่างกายยังไม่คุ้นชินกับตัวยา ซึ่งอาจแสดงออกในรูปแบบของอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้ อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้มักไม่รุนแรงและไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้น ผู้ใช้ยาจึงสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม การกินยาอาจมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ในบางราย (เป็นจำนวนน้อย) ซึ่งจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพไตและการสูญเสียมวลกระดูกที่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่กินยา PrEP จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพไตอย่างสม่ำเสมอทุก 6 เดือน
ยา PrEP มีรูปแบบการฉีดหรือไม่
PrEP รูปแบบฉีดในปัจจุบันถูกใช้อยู่บ้างในฝั่งอเมริกาและยุโรปบางประเทศ สำหรับในประเทศไทย ยังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยในแง่ของผลลัพธ์และความปลอดภัยระยะยาว อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาและวิจัย พบว่า ยา PrEP แบบเม็ดที่กินอย่างถูกต้องตามแพทย์แนะนำ ยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
สรุป
PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) เป็นยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ HIV ที่มีประสิทธิภาพสูงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อใช้อย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ แตกต่างจาก PEP ที่ใช้หลังการสัมผัสเชื้อ
ซึ่งการกินยา PrEP นี้เหมาะสำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV แต่ไม่เหมาะกับผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่องหรือผู้ที่ติดเชื้อ HIV อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม แม้การกินยา PrEP จะมีประสิทธิภาพสูง แต่แนะนำให้ใช้ร่วมกับถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ