Hotline: (+66)98 764 7222

โรคเอดส์ คือ ป้องกันอย่างไร รักษาได้ไหม

โรคเอดส์ คืออะไร เป็นแล้วรักษาได้ไหม ป้องกันอย่างไรไม่ให้ติดโรค 

ในอดีต โรคเอดส์เคยถูกมองว่าเป็นโรคที่น่ากลัวและไม่มีทางรักษา แต่ทางการแพทย์ในปัจจุบัน โรคเอดส์ได้กลายเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถควบคุมได้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพได้หากได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การป้องกันยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงโรคนี้ 

บทความนี้จะพาไปดูวิธีการป้องกันโรคเอดส์ รวมถึงความเป็นไปได้ในการรักษา และการใช้ชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน

โรคเอดส์ คืออะไร

โรคเอดส์ (AIDS) คือ ภาวะที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) เข้าทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ เช่น วัณโรค หรือ ปอดอักเสบได้ง่ายกว่าคนปกติ เปรียบเสมือนว่าร่างกายของเราสูญเสียกำแพงป้องกันตัวไป ทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เข้ามาทำร้ายได้ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการรักษา และความคุมระดับเชื้อเอชไอวีในผู้ติดเชื้อที่ได้ผลดีมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตที่ยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเสี่ยงในการพัฒนาไปสู่ภาวะเอดส์ได้ 

โรคเอดส์ เกิดจากอะไร 

โรคเอดส์เกิดจากอะไร? การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นสาเหตุของการเป็นโรคเอดส์ ซึ่งเชื้อเอชไอวีเป็นไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย  และ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเอชไอวี เป็นเวลานานประมาณ 10 ปี โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และเหมาะสม เชื้อเอชไอวี จะค่อยๆ ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน จนในที่สุดก็พัฒนาเป็นภาวะโรคเอดส์ 

ผู้ที่เป็นโรคเอดส์จะมีอาการอย่างไร

โรคเอดส์มีอาการอย่างไร? ภาวะแทรกซ้อนของภาวะเอดส์แต่ละชนิดจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย น้ำหนักลด ไข้ต่ำเรื้อรัง และมีอาการของอวัยวะที่ถูกทำลาย เช่น หายใจลำบาก ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีผื่นกุหลาบ และมีแผลเรื้อรังตามตัว

ภาวะแทรกซ้อนมีอะไรบ้าง

เมื่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเอดส์ มักจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่เรียกว่า “โรคติดเชื้อฉวยโอกาส” ซึ่งเป็นโรคที่คนปกติมักไม่ค่อยเป็น เนื่องจาก ร่างกายของคนปกติ มีภูมิต้านทานเพียงพอที่จะป้องกันได้ โรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบบ่อยในผู้ป่วยภาวะเอดส์ ได้แก่

  • วัณโรค เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มักจะเข้าทำลายปอด แต่สามารถเข้าทำลายอวัยวะอื่น ๆ ได้เช่นกัน
  • โรคปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อราชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Pneumocystis jirovecii (PJP) โดยเชื้อราชนิดนี้จะเข้าไปทำลายปอด ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อราชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Cryptococcus ซึ่งจะเข้าไปทำลายเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และสับสน
  • มะเร็ง ผู้ป่วยโรคเอดส์มีโอกาสเป็นมะเร็งบางชนิดได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งผนังหลอดเลือด มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ภาวะโลหิตเป็นพิษ เกิดจากการที่เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ร่างกายอักเสบอย่างรุนแรง

การติดเชื้อ HIV มีกี่ระยะ

ภาวะเอดส์ สามารถพัฒนามาจากระยะ 1 และระยะที่ 2 ของการติดเชื้อ HIV ซึ่งโดยปกติแล้วจะ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะแรกของการติดเชื้อ 

ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ HIV เป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มตอบสนองต่อเชื้อไวรัส HIV หลังจากการสัมผัสเชื้อเป็นเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ซึ่งในช่วงเวลานี้ เชื้อ HIV จะทำการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว และทำลายเซลล์ CD4 ซึ่งเป็นเซลล์สำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง และเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น แม้ว่าร่างกายจะพยายามสร้างเซลล์ CD4 ใหม่ขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อ แต่ปริมาณที่เพิ่มขึ้นมานั้นก็ยังไม่เพียงพอ ที่จะยับยั้งการทำงานของเชื้อ HIV ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ติดเชื้อในระยะนี้สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ในระยะแรกบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ ให้สังเกต ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง  การขาดการรักษาในระยะเริ่มต้นนี้ อาจส่งผลให้โรคดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น การตรวจหาเชื้อ HIV เป็นประจำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถตรวจพบการติดเชื้อได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ระยะที่ 2 ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ 

เป็นช่วงที่เชื้อ HIV แฝงตัวอยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการใด ๆ ทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ในช่วงเวลานี้ เชื้อ HIV นั้นจะค่อย ๆ ทำลายเซลล์ CD4 ซึ่งเป็นเซลล์สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงเรื่อย ๆ และเมื่อระดับของเซลล์ CD4 ลดลงเหลือประมาณ 200-1000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าต่ำกว่าระดับปกติทั่วไป ดังนั้นเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง ร่างกายก็จะอ่อนแอตามไปด้วย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น

ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินโรคในระยะนี้ แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี แต่บางรายอาจมีการดำเนินโรคที่เร็วกว่า หรือช้ากว่าค่าเฉลี่ยก็ได้ ปัจจัยหลายอย่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเร็วช้าของการดำเนินโรค เช่น พันธุกรรม วิถีชีวิต และการได้รับการรักษา เป็นต้น

ระยะที่ 3 ภาวะเอดส์ 

เอดส์ หรือระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ HIV เป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกทำลาย จนไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป โดยผู้ป่วยในระยะนี้จะมีระดับเซลล์ CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงอย่างมาก และเปิดโอกาสให้เชื้อโรคต่าง ๆ เข้ามาทำร้ายร่างกายได้ง่ายขึ้น เช่น วัณโรค ปอดอักเสบจากเชื้อปฏิชีวนะทั่วไปไม่ตาย หรือมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งสมอง เป็นต้น 

โรคเอดส์แสดงอาการตอนไหน? อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยระยะนี้ ได้แก่ ไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด ท้องเสียเรื้อรัง อ่อนเพลีย และมีแผลติดเชื้อตามร่างกาย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

โรคเอดส์ติดต่ออย่างไร

โรคเอดส์ติดต่ออย่างไร? โรคเอดส์มีช่องทางการติดต่อหลัก ๆ ดังนี้

  • การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ช่องทวารหนัก หรือช่องปาก ถือเป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อ HIV ทั่วโลก
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การใช้เข็มฉีดยาหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่สัมผัสกับเลือดร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการติดเชื้อ
  • จากแม่สู่ลูก เชื้อ HIV สามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์ ขณะคลอด และการให้นมบุตร
  • การสัมผัสเลือดโดยตรง การสัมผัสกับเลือดของผู้ติดเชื้อโดยตรงผ่านบาดแผลเปิด หรือการใช้ของมีคมร่วมกัน เช่น เข็มสัก มีดโกน อาจทำให้ติดเชื้อได้
  • การรับเลือดที่ปนเปื้อน แม้จะน้อยมากในปัจจุบัน แต่การรับเลือดที่ปนเปื้อนเชื้อ HIV ก็ยังคงเป็นไปได้

โรคเอดส์รักษาให้หายขาดได้หรือไม่

การรักษาโรคเอดส์ในปัจจุบัน มุ่งเน้นไปที่การควบคุมเชื้อเอชไอวีให้มีปริมาณน้อยมากจนตรวจไม่พบในเลือด ด้วยการใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งจะช่วยให้ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนขึ้น อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยยาต้านไวรัสยังไม่สามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีออกจากร่างกายได้ทั้งหมด ผู้ติดเชื้อ จึงจำเป็นต้องทานยาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อป้องกันการกลับมาของโรค 

ป้องกันโรคเอดส์และ HIV ได้อย่างไร

แนวทางการป้องกันโรคเอดส์และ HIV ทำได้ง่ายกว่าที่คิด เพียงแค่เราใส่ใจสุขภาพและปรับพฤติกรรมเล็กน้อย ดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์แบบใด การสวมถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้มากที่สุด
  • ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา มีดโกนหนวด แปรงสีฟัน เพราะอาจมีเชื้อ HIV ปนเปื้อนได้
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนแต่งงาน หรือ หากมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรตรวจหาเชื้อ HIV และรับคำแนะนำจากแพทย์

วิธีการตรวจ HIV ทั้ง 3 แบบ

การตรวจ HIV มี 3 วิธีหลัก

  • ตรวจแอนติเจน/แอนติบอดี ตรวจหาโปรตีนของเชื้อและภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้น รู้ผลเร็วที่สุด ภายใน 14-21 วันหลังติดเชื้อ
  • ตรวจแอนติบอดี ตรวจหาภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้น รู้ผลช้ากว่าวิธีแรกเล็กน้อย ประมาณ 30-90 วัน
  • ตรวจสารพันธุกรรม ตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ใช้ติดตามประสิทธิภาพการรักษา ไม่นิยมใช้ตรวจวินิจฉัยในระยะแรก

เมื่อทราบผลการตรวจว่าติดเชื้อ HIV ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อเริ่มรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสโดยเร็วที่สุด โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกยา ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล และติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด

การดูแลตัวเองหลังติดเชื้อ HIV ป้องกันการเป็นโรคเอดส์

  • ทานยาต่อเนื่อง การทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญมาก หากหยุดยา เชื้อไวรัสอาจดื้อยาและกลับมาเพิ่มจำนวนได้
  • ดูแลสุขภาพ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง
  • พบแพทย์ตามนัด ควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสุขภาพ และปรับยาหากจำเป็น

สรุป

การรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ให้มีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นเป้าหมายหลักในการรักษา โดยจะเน้นการป้องกัน และควบคุมไม่ให้เชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนที่จะส่งผลกระทบ ต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอย่างรุนแรง และพัฒนาไปสู่ภาวะเอดส์ 

แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาด แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีโดยการใช้ยาต้านไวรัสนั้น สามารถช่วยให้ผู้ติดเชื้อสามารถมีชีวิตที่ยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ลดโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่ภาวะเอดส์ 

Z by Zeniq มุ่งมั่นดูแลผู้ป่วย HIV ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่มีความรู้และประสบการณ์ พร้อมด้วยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยที่ทันสมัย เพื่อให้การตรวจและรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำ